วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2561

โน้ตในคอร์ดไมเนอร์



     จากตอนที่แล้วเราได้มาทำความรู้จักกับ ตัวโน้ต ที่อยู่ในคอร์ดเมเจอร์ต่างๆไปแล้วนะครับ ซึ่ง ตัวโน้ต ในคอร์ดนั้นๆ จะประกอบไปด้วยโน้ตตัวที่ 1,3,5 อย่างเช่น

     คอร์ด C จะมีตัวโน้ต C,E,G
     คอร์ด D จะมีตัวโน้ต D,F#,A
     คอร์ด E จะมีตัวโน้ต E,G#,B


     อย่างนี้เป็นต้น อันนี้พูดเฉพาะ ตัวโน้ต ที่อยู่ในคอร์ดนะครับ ยังไม่ได้เจาะลึกว่า โน้ตแต่ละตัวมีลักษณะเป็น เมเจอร์หรือไมเนอร์อีก เอาแค่นี้ก่อน เพราะบางครั้งเวลาเราหาคอร์ดเพลง หรือแต่งเพลงก็แล้วแต่ ในการสร้างคอร์ดเพลงแต่ละคีย์ก็จะมีคอร์ดประจำคีย์นั้นอยู่ด้วย เช่น ในคีย์ D ก็จะมีคอร์ด D / Em7 / F#m7 / Gmaj7 / A7 / Bm7 / C#dim (C#m7b5) ก็จะงง กันไปอีก เพราะมันมีเรื่องพวกสเกลเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ค่อยว่ากัน
     อย่างที่ออกตัวไปก่อนหน้านี้ว่า ผมไม่ได้เป็นปรมาจารย์ด้านโน้ตดนตรี แต่แค่พอเข้าใจ และก็เอาความเข้าใจมาบอกกล่าวเหมือนเพื่อนบอกเพื่อนให้เข้าใจและมีวิธีจำง่ายๆให้ ถ้าอยากรู้ลึก รู้จริง ต้องอ่าน "ทีวีพูล" (ไม่เกี่ยว) อยากรู้เรื่องโน้ตลึกๆกว่านี้ให้ไปศึกษาเพิ่มเติมในตำราด้านดนตรีหรืออ่านเพิ่มเติมในอินเตอร์เน็ตเยอะแยะ แต่บางทีเราอ่านอะไรที่เป็นวิชาการลึกๆเกินไปมันจะงง เอาสูตรง่ายๆของผมไปต่อยอดได้
     ตามที่ได้เกริ่นไว้ก็คือ ตัวโน้ต ใน คอร์ดไมเนอร์ ใช้หลักการเดียวกับ คอร์ดเมเจอร์ ก็คือสูตร 1,3,5 เหมือนกันครับ แต่พวกที่มันเป็น ไมเนอร์ ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Am / Cm /Bm ............. ต่างๆพวกนี้สิ่งที่ทำให้มันแตกต่างจากพวก เมเจอร์ ก็คือ โน้ตตัวที่ 3 ที่ชัดที่สุด เพราะมันจะมีเสียงต่ำกว่า คอร์ดไมเนอร์ ครึ่งเสียง หรือลดลงมาจากเฟร็ตกีต้าร์ 1 ช่องนั่นเอง อย่างเช่น
     คอร์ด C  จะมีตัวโน้ต  C,E,G
     ถ้าทำให้มันเป็น คอร์ดไมเนอร์ ก็ให้ลดตัวที่ 3 ของ คอร์ด C ลงมาครึ่งเสียง จะได้ดังนี้
     คอร์ด Cm  จะมีตัวโน้ต  C,Eb,G
     ลดตัวที่ 3 ของ คอร์ด C คือ ลดเสียง E ลงมาเป็น Eb แค่นี้ก็เป็น คอร์ดไมเนอร์ แล้วครับ
     คอร์ดอื่นๆก็เหมือนกันครับ ลองเอาไปทำดูในทุกๆ คอร์ดเมเจอร์ แล้วทำให้เป็น คอร์ดไมเนอร์ ดูนะครับ
     ถามว่า ทำไมต้องเป็น 1,3,5 ด้วย มันก็เป็นแค่สูตรที่คนที่คิดค้นดนตรีขึ้นมาว่าสูตรนี้มันฟังอร่อยหูที่สุดแหล่ะครับ อย่าไปสนใจเลยว่าทำไม จะให้มันเป็น 1,6,7 ได้ไหม ก็ได้นะไม่มีใครทำอะไรคุณหรอก แต่มันจะอร่อยหรือเปล่าแค่นั้นเอง เหมือนเขาคิดมาให้แล้วว่า กาแฟผสมกับคอฟฟี่เมตมันอร่อย แต่ถ้าเอากะปิไปใส่กาแฟก็ไม่ผิดนะ แต่กินแล้วมันจะอร่อยหรือเปล่าแค่นั้นเอง เพราะจริงๆแล้ว ทฤษฏีดนตรี มันก็คือหลักการที่คนที่คิดค้นเขาหาสูตรมาให้ว่าแบบนี้ๆมันฟังดูดีที่สุดแล้ว แต่คุณจะคิดใหม่ ทำใหม่ก็ไม่ผิดนะ ถ้ามีอะไรที่เจ๋งกว่า เหมือนอย่างกับการแหกกฏเกณฑ์ของเพลงแนว Nu Metal ที่ฮิตกันมาช่วงยุค 90 มา เขาก็แหกกฏโดยที่ กฏเกณฑ์ทางดนตรีบอกว่า ตั้งสายกีต้าร์ให้ได้มาตรฐานคือ
     สาย 6 ตั้งเสียง E
     สาย 5 ตั้งเสียง A
     สาย 4 ตั้งเสียง D
     สาย 3 ตั้งเสียง G
     สาย 2 ตั้งเสียง B
     สาย 1 ตั้งเสียง E
     แต่นักดนตรีสาย Nu Metal กลับไปตั้งสายแบบนี้
    สาย 6 ตั้งเสียง B
     สาย 5 ตั้งเสียง F
     สาย 4 ตั้งเสียง D
     สาย 3 ตั้งเสียง A
     สาย 2 ตั้งเสียง E
     สาย 1 ตั้งเสียง A
     เรียกว่าเสียงต่ำติดดินกันทีเดียว ทำให้เสียงมันโหดขึ้น
     นี่ก็คือให้คิดว่า ทฤษฎีดนตรี ก็เรียนให้รู้ให้เข้าใจ แต่คุณอาจจะมีแนวทางของคุณก็ได้นะ อย่ายึดหลักอะไรมาก แต่ก็เป็นแนวทาง ไม่ต้องซีเรียส เพราะถ้าคุณคิดค้นอะไรที่ใหม่และดีกว่า คุณก็อาจจะเป็น "บีโธเฟน" ในยุคนี้ก็ได้ แล้วพบกันใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โหมด และ สเกล ทางดนตรี: คู่มือเบื้องต้นสำหรับนักดนตรี

  โหมดและสเกล: พื้นฐานสำคัญของการสร้างสรรค์ดนตรี      สำหรับนักดนตรีทุกคน ไม่ว่าจะเป็นมืออาชีพหรือผู้ที่เพิ่งเริ่มต้น การทำความเข้าใจ โหมด (...