วันศุกร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2561

เรียนรู้เรื่องโน้ตดนตรี



     วันนี้มาต่อกันจากบทความที่แล้วว่าจะทำอย่างไรถึงจะเล่นดนตรีได้เก่ง (ต่อจากตอนที่ 3) แต่วันนี้เรามาขึ้นชื่อเรื่องใหม่ไปเลย เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการเล่นดนตรี ก็คือ การเรียนรู้เรื่องโน้ตดนตรี  บางคนบอกว่า ไม่ต้องอ่านโน้ตดนตรีเป็นก็เล่นดนตรีเก่งได้ อันนี้ก็ถูกนะเพราะบางคนฝึกมากจริงๆแบบเอาเป็นเอาตาย แต่ถ้าเราอ่านโน้ตได้ก็จะก้าวไปอีกขั้นหนึ่งได้ง่ายด้วยเหมือนกัน เอาน่า ! มันก็เหมือนคนที่อ่านหนังสือออก กับอ่านหนังสือไม่ออกนั่นแหล่ะ คนอ่านหนังสือออก็มีโอกาสต่างๆมากกว่าคนอ่านหนังสือไม่ออกนั่นแหล่ะ

     จากบทความที่แล้วมาเราเน้นสอนเรื่อง กีต้าร์โปร่ง ก่อน เพราะคนส่วนใหญ่ก็เริ่มฝึกดนตรีสากลจาก กีต้าร์โปร่ง นี่แหล่ะ และมันก็เอาไปต่อยอดเครื่องดนตรีอื่นๆ ได้ง่ายด้วยนะ
     แต่สิ่งที่ผมจะสอนนี้ก็ไม่ใช่ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องโน้ตดนตรีอะไรมากมาย ถ้าอยากรู้เพิ่มเติมต้องไปต่อยอดเอาเองอย่างเช่น หาหนังสือเรื่องโน้ตดนตรีมาอ่าน หาความรู้เพิ่มเติมในอินเตอร์เน็ต หรือไปเรียนดนตรีเลย ฯลฯ แต่ที่จะมาสอนสำหรับผู้ที่ยังไม่รู้เรื่องโน้ตดนตรีมาก่อนให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ไม่ปวดหัว หรือจดจำอะไรที่มันยาก เพราะผมเองส่วนใหญ่ก็ศึกษาเองเกือบทั้งหมดมาก่อน เข้าใจคนที่เรียนรู้ใหม่ว่า บางทีอ่านจากหนังสือเองมัน งงเต็กอย่างแรง เพราะมันเหมือนเราไปอยู่อีกโลกหนึ่งที่ไม่เคยมีภาษาที่เราใช้ในชีวิตประจำวันมาก่อน ผมจะอธิบายแบบบ้านๆ ให้เข้าใจง่ายๆละกัน
     โน้ตดนตรี ไม่ว่าจะเป็นการเล่น กีต้าร์โปร่ง กีต้าร์ไฟฟ้า เบส เปียโน มันก็เป็นหลักการเดียวกัน หรือแม้กระทั่ง กลองชุด ก็มีโน้ตนะ (เฮ้ย ! มีโน้ตกลองชุดด้วยเหรอ) ขอบอกว่า เสียงที่คุณได้ยิน แม้แต่ เอาขันสเตนเลสมาเคาะที่หัวคุณยังมีเสียงโน้ตเลย อย่างที่เราเคยได้ยินกันมาบ้าง ก็จะมีโน้ตหลักๆ กันอยู่ 7 ตัว ได้แก่ โด (หรือจะ โด่ ก็ได้แล้วแต่ถนัด แต่ใช้ โด ดีกว่า จะได้ฟังลื่นหูหน่อย) นอกเรื่องอีกและ มีดังนี้ โด เร มี ฟา ซอล รา ที และอยากให้จำแบบนี้เข้าไปด้วยเพราะจะเอาไปใช้ประโยชน์ในวันข้างหน้าได้อีกคือ
     โด  =  1
      เร  =  2
      มี  =  3 
      ฟา  =  4
      ซอล  =  5
      ลา  =  6
      ที  =  7
     ทำไมต้องจำแบบนี้ด้วย เพราะมันเอาไปต่อยอดได้อีกหลายอย่างในวันข้างหน้า เช่นเรื่องคู่เสียง (เสียงประสานนั่นแหล่ะ) ในหนังสือบางเล่มจะใช้โน้ตเป็นตัวเลขอย่างพวกโน้ตเพลงเปียโน เป็นต้น ก็ให้จำไว้ก่อนละกัน วันหน้าสอนเรื่องอื่นจะได้ไม่งง
     และถ้าเล่น กีต้าร์โปร่ง หรือ กีต้าร์ไฟฟ้า ก็แล้วแต่ ก็ให้จำเพิ่มไปอีกขั้นคือ
     C  =  โด  =  1
      D  =  เร  =  2
      E  =  มี  =  3 
      F  =  ฟา  =  4
      G  =  ซอล  =  5
      A  =  ลา  =  6
      B  =  ที  =  7
     สำหรับคนใหม่อาจจะเริ่ม มึนๆ ปวดหัวหน่อยๆแล้วใช่ไหมครับ ไม่ต้องตกใจครับ มันเป็นกระบวนการหนึ่งของสมองที่มันเริ่มทำงานจดจำสิ่งใหม่ๆเข้าไปในสมองครับ ที่มันจะเพิ่มรอยหยักให้คุณรู้มากขึ้นไปอีกระดับหนึ่งครับเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าคุณไม่มึน ไม่ปวดหัว แสดงว่าสมองผิดปกติครับ ต้องไปตรวจได้แล้ว 555
     สิ่งที่ให้จำอันนี้มันคุ้นๆอะไรไหมครับ ก็คือ คอร์ดกีต้าร์ที่คุณฝึกๆๆๆๆๆๆๆๆๆ มาในตอนซื้อกีต้าร์ใหม่มาเล่นเพลงต่างๆ มาจับคอร์ดเพลงต่างๆนั่นแหล่ะครับ เอาให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ยกตัวอย่างสักคอร์ดนะครับ
     คอร์ด C ที่คุณเล่นตัวโน้ตตัวหลักของมันก็คือ โน้ตตัว โด หรือ เลข 1 นั่นเอง เพราะจริงๆแล้วความหมายของ คอร์ด มันก็คือ เอาโน้ตตั้งแต่ 3 ตัวขึ้นไปมาผสมกันให้มีเสียงที่กลมกลืนกันนั่นเอง ซึ่ง คอร์ด C มันจะมีโน้ตที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นคอร์ดได้แก่
     C  =  โด  =  1
      E  =  มี  =  3
      G  =  ซอล  =  5
     บางคนอาจจะ งง ว่า เฮ้ย ! เราซื้อกีต้าร์มามันมี 6 สายนี่หว่า แล้วทำไมมันมีแค่ 3 เสียง หรือ 3 ตัวโน้ตได้ไงวะ ผมก็จะบอกว่า "จริงๆนะ ไม่ได้โม้"  เสียงกีต้าร์ใน คอร์ด C ที่คุณดีดมา 1 ครั้ง มันมีแค่โน้ต 3 ตัวนี้
     โดยสายกีต้าร์เส้นที่ 6 เส้นที่ใหญ่สุดนั่นแหล่ะ มันเป็นเสียง E แต่บางคนจับแบบเต็มโดยกดนิ้วลงไปในช่องที่ 3 เส้นที่ 6 มันจะเป็นเสียง G
     เส้นที่ 5 มันจะเป็นเสียง C
     เส้นที่ 4 มันจะเป็นเสียง E
     เส้นที่ 3 มันจะเป็นเสียง G
     เส้นที่ 2 มันจะเป็นเสียง C
     เส้นที่ 1 มันจะเป็นเสียง E
     นี่คือเสียงที่คุณได้ยิน ถ้าคุณจับ คอร์ด C ตามรูปนี้


ภาพจาก www.justinguitar.com

     ซึ่งบางกรณีคุณจะเห็นตารางคอร์ดมีเครื่องหมาย x บนรูปสายกีต้าร์เส้นที่ 6 นั่นก็คือ เอานิ้วนางของคุณให้โดนสายที่ 6 เบาๆเพื่อไม่ให้สายที่ 6 มันมีเสียงก็จะได้ยินเสียงโน้ตตัว C หรือ โด หรือเลข 1 ได้ชัดขึ้น แต่ถ้าปล่อยให้มันมีเสียง E ออกมาก็ไม่ผิด
     จะเห็นได้ว่า ตัวโน้ตทั้งหมดที่คุณดีด คอร์ด C มันก็มีแค่ 3 เสียงนี้ผสมกันอยู่ แต่จะเป็นคนละ อ็อกเต็ป (octave) ซึ่งคำนี้ คำว่า "อ็อกเต็ป นี่ก็คือ ตัวโน้ตที่เป็นตัวเดียวกันแต่เสียงสูงต่ำไม่เท่ากัน (อันนี้คำแบบบ้านๆจะได้ไม่งง) อย่างเช่น เวลาคุณไล่เสียงตัวโน้ต โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด เร.........  จะเห็นได้ว่า เสียงโดแรก กับเสียงโดตัวที่สอง มันคือเสียงโดเหมือนกัน แต่เสียงโดแรกมันต่ำกว่าโดที่สอง (ออกเสียงเองมันจะเป็น โด่ กับ โด๋) นี่แหล่ะจึงบอกได้ว่า โดแรก กับ โดที่สอง อยู่คนละอ็อกเต็ปกัน อันนี้เข้าใจตรงกันนะ
     ทีนี้จะให้การบ้านสำหรับคนที่อ่านบทความนี้ไปก่อนละกัน จะได้ไม่มึนไปมากกว่านี้ ให้ไปหาตัวโน้ตบนคอกีต้าร์ทุกช่องของกีต้าร์ที่คุณซื้อมาใหม่ให้หมดทุกช่องเลยครับ อาจจะซื้อตารางโน้ตมาดูก็ได้นะ หรือหาจากเน็ตก็มี วาดรูปเองก็ได้ แต่พอได้มาแล้วให้เอานิ้วกดไปตามโน้ตนั้นที่คุณเห็นมาในตารางที่หามา ให้ลองฟังเสียงจริงๆ แล้วจำไว้ด้วยว่ามันเสียงโน้ตอะไร
     ทุกอย่างเข้าหลักการเดิมที่เคยสอนไปคือ ดนตรีสากล มีเสียงโน้ตดนตรีแบบครึ่งเสียงอยู่คือมี b (แฟลต) มี # (ชาร์ป) โดยให้รู้ไว้ว่าทุกๆช่องบนคอกีต้าร์ของคุณมันมีเสียงห่างกันครึ่งเสียง ถ้าห่างกัน 2 ช่องเขาเรียกกันว่า เสียงโน้ตดนตรีห่างกัน 1 เสียงเต็ม ไอ้คำว่า ห่างกัน 1 เสียงเต็มก็คือ โด ไปหา เร   แล้วก็ เร  ไปหา มี  นั่นคือ 1 เสียงเต็ม  โดยจะบอกไว้ก่อนว่าเสียงกีต้าร์ที่คุณตั้งให้ได้มาตรฐานนั้นจะต้องมีเสียงดังนี้
     สายที่ 6 สายเปล่า (ไม่ต้องเอานิ้วกด) เป็นเสียง       E  =  มี  =  3
     สายที่ 5 สายเปล่า (ไม่ต้องเอานิ้วกด) เป็นเสียง       A  =  ลา  =  6
     สายที่ 4 สายเปล่า (ไม่ต้องเอานิ้วกด) เป็นเสียง       D  =  เร  =  2
     สายที่ 3 สายเปล่า (ไม่ต้องเอานิ้วกด) เป็นเสียง       G  =  ซอล  =  5
     สายที่ 2 สายเปล่า (ไม่ต้องเอานิ้วกด) เป็นเสียง       B  =  ที  =  7
     สายที่ 1 สายเปล่า (ไม่ต้องเอานิ้วกด) เป็นเสียง       E  =  มี  =  3
     แล้วจะตั้งสายกีต้าร์อย่างไรให้ได้มาตรฐาน เริ่มต้นก็คือ ตอนนี้คุณควรจะฝึกการฟังเสียงให้ออก เทียบเสียงจากหูให้ได้ อันไหนเสียงสูง อันไหนเสียงต่ำ ต้องฝึกได้แล้ว โดยอาจจะหาเสียงดนตรีที่มีมาตรฐานอยู่แล้วมาเทียบเสียง อย่างคีย์บอร์ด เปียโน ขลุ่ยก็ได้นะ หรือถ้ามีเพลงไหนขึ้นต้นเสียง E หรือ มี หรือไอ้เลข 3 เนี้ย ก็เอามาช่วยตั้งสายกีต้าร์ได้นะ เมื่อก่อนผมก็หาวิธีบ้านๆแบบเนี้ยแหล่ะ ตอนหัดเล่นใหม่ๆ แต่สมัยนี้สบายแล้ว มี เครื่องตั้งสายกีต้าร์ ขายที่ร้านขายเครื่องดนตรีเยอะแยะเลย หรือหาซื้อตามอินเตอร์เน็ตก็ได้ครับ ง่ายกว่าเมื่อก่อนเยอะ



     เมื่อตั้งสายกีต้าร์ได้มาตรฐานแล้วก็ไล่เสียงบนคอกีต้าร์ให้ครบทุกช่องเลย จะได้รู้ว่าบนคอกีต้าร์มันมีโน้ตอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง อย่างเช่น คุณอาจจจะเริ่มที่
     สายที่ 6 สายเปล่าคือ E (อย่าลืมตรงนี้ E  =  มี  =  3  แต่ผมจะพูดสั้นๆพอเพื่อจะได้ไม่เสียเวลา)
     ช่องที่ 1 สายที่ 6 คือ F (เราจะไม่เรียกว่า E# นะ เพราะมันบ้านนอก  ให้รู้ไว้ก่อนว่าเสียง E กับ F ห่างกันครึ่งเสียง)
      ช่องที่ 2 สายที่ 6 คือ F# หรือ Gb
      ช่องที่ 3 สายที่ 6 คือ G
      ช่องที่ 4 สายที่ 6 คือ G# หรือ Ab
      ช่องที่ 5 สายที่ 6 คือ A
       ช่องที่ 6 สายที่ 6 คือ A# หรือ Bb
       ช่องที่ 7 สายที่ 6 คือ B
        ช่องที่ 8 สายที่ 6 คือ C  (เราจะไม่เรียกว่า B# นะ เพราะมันบ้านนอก  ให้รู้ไว้อีกอย่างว่าเสียง B กับ C ห่างกันครึ่งเสียง)
        ช่องที่ 9 สายที่ 6 คือ C# หรือ Db
        ไล่เสียงแบบนี้ไปเรื่อยๆจนสุดคอกีต้าร์ในสายที่ 6 ก็จะรู้ว่ามีโน้ตอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง ในเส้นอื่นๆก็เช่นกันครับ อย่างในสายกีต้าร์สายที่ 5 ก็เริ่มจาก A ไปเรื่อยๆ ทำแบบนี้ไปทุกสายทุกช่องเลยครับ และจำให้ได้นะครับว่ามีโน้ตอยู่ตรงไหนบ้าง แล้วเดี๋ยวค่อยมาสอนเรื่องๆอื่นๆต่อนะครับ ขยันฝึกค่อยๆ ไปเรื่อยๆ ครับ ให้จำว่าอย่างหนึ่งว่า " คนที่เขาเล่นกีต้าร์ หรือเครื่องดนตรีอะไรก็ได้ ที่เขาเก่ง เขาก็เคยเล่นไม่เป็นเหมือนคุณมาก่อนครับ เขาไม่ได้คลอดออกมาจากท้องแม่แล้วเก่งเลยครับ ถ้าคลอดออกมาแล้วโซโล่กีต้าร์เป็นไฟมาเลยแม่เขาคงไม่เลี้ยงแล้วครับ เพราะมันคือ เด็กผี ! " 555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โหมด และ สเกล ทางดนตรี: คู่มือเบื้องต้นสำหรับนักดนตรี

  โหมดและสเกล: พื้นฐานสำคัญของการสร้างสรรค์ดนตรี      สำหรับนักดนตรีทุกคน ไม่ว่าจะเป็นมืออาชีพหรือผู้ที่เพิ่งเริ่มต้น การทำความเข้าใจ โหมด (...