วันเสาร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2561

เจาะลึกเรื่องคอร์ดกีต้าร์



     จากตอนที่แล้ว เราได้มาเรียนรู้เรื่องโน้ตดนตรีกันมาเบื้องต้น แบบคร่าวๆ กันแล้ว โดยเบื้องต้นเราได้เรียนรู้เรื่องโน้ตดนตรีในการเล่น กีต้าร์โปร่ง กันก่อน เพราะมันสามารถเอาไปต่อยอดในการเล่นเครื่องดนตรีอย่างอื่นได้อีกเยอะแยะมากมาย เอาไว้เราค่อยมาเรียนรู้กันทีหลังนะแจ๊ะ
     จากบทความที่แล้ว เรียนรู้เรื่องโน้ตดนตรี  ผมได้ให้ผู้อ่านไปทำการบ้านมาแล้ว คงได้รู้จักตัวโน้ตบนคอกีต้าร์ทั้งหมดทุกช่องทุกตำแหน่งแล้วใช่ไหมครับ (อะไรนะ ไม่มีเวลาฝึกอีกแล้วเหรอครับ อย่าลืมนะครับ อยากสูงต้องเขย่ง อยากเก่งต้องขยันครับ) งั้นเอารูปไปดูเฉลยว่าเราหาโน้ตต่างๆบนคอกีต้าร์ได้ถูกต้องไหม




ภาพจาก www.lessonface.com

     ถามว่าทำไมเราต้องรู้ตัวโน้ตบนคอกีต้าร์ทุกตัวด้วยหล่ะครับ ? ก็เพราะเมื่อเรารู้เรื่องโน้ตดีแล้ว ในการแกะเพลงต่างๆ หรือการแต่งเพลงมันก็จะง่ายขึ้นครับ จากตอนที่แล้วเราได้เกริ่นเรื่องโน้ตในคอร์ดกีต้าร์ไปคร่าวๆแล้วนะครับ ทีนี้เราจะมาเจาะลึกลงไปอีกในเรื่องของ คอร์ดกีต้าร์ ซึ่ง คอร์ดกีต้าร์ มันก็เกิดจากการผสมเสียงของ ตัวโน้ต ขึ้นมานั่นเอง ถ้าเป็น คอร์ดเมเจอร์ อย่างเช่น C / D / E / F / G / A / B นั้น จะประกอบกันขึ้นมาด้วยตัวโน้ต 3 ตัว ก็คือ ตัวที่ 1  ตัวที่ 3 และตัวที่ 5 ของคีย์หลักของคอร์ดตัวนั้น เอ๊ะ ! มันคืออะไร ตัวที่ 1,3,5 จะอธิบายให้เข้าใจแบบบ้านๆ แบบนี้
     โน้ตตัวที่ 1 ก็คือ ตัวมันเอง หรือที่เรียกกันว่า root (root แปลว่า ราก, รากเง่า,ต้นกำเนิด) อย่างเช่น คอร์ด C โน้ตตัวหลักของมันคือ โด หรือ ตัว C ก็คือ ตัวมันเองนั่นแหล่ะ คอร์ด D ก็คือ เร หรือ D เป็นตัวหลักของคอร์ด สรุปก็คือ คอร์ดอะไรก็จะมีตัวหลักคือตัวมันเองตัวนั้น
     โน้ตตัวที่ 3 ก็คือ เป็นโน้ตลำดับที่ 3 นับห่างออกไปจากโน้ตตัวที่ 1 หรือโน้ตตัวหลักนั้นๆ อย่างเช่น ตัวโน้ตทั้งหมด ในคอร์ด C คือ
     โด     เร     มี     ฟา     ซอล     ลา     ที
      C      D     E      F         G        A       B
     ดังนั้น โน้ตตัวที่ 3 ในคอร์ด C ก็คือให้เรานับตัวโน้ต โด หรือ C เป็นตัวที่ 1 และตัวที่ 2 คือ เร หรือ D และตัวที่ 3 คือ มี หรือ E ซึ่งโน้ตตัวที่ 3 ก็คือโน้ตตัว มี หรือ E นั่นเอง
     โน้ตตัวที่ 5 ก็คือ เป็นโน้ตลำดับที่ 5 นับห่างออกไปจากโน้ตตัวที่ 1 หรือโน้ตตัวหลักนั้นๆ อย่างเช่น ตัวโน้ตทั้งหมด ในคอร์ด C คือ
     โด     เร     มี     ฟา     ซอล     ลา     ที
      C      D     E      F         G        A       B
     ดังนั้น โน้ตตัวที่ 5 ในคอร์ด C ก็คือให้เรานับตัวโน้ต โด หรือ C เป็นตัวที่ 1 และตัวที่ 2 คือ เร หรือ D และตัวที่ 3 คือ มี หรือ E และตัวที่ 4 คือ ฟา หรือ F และตัวที่ 5 คือ ซอล หรือ G ซึ่งโน้ตตัวที่ 5  ก็คือโน้ตตัว ซอล หรือ G นั่นเอง
     สรุปก็คือ ใน คอร์ด C จะประกอบไปด้วยตัวโน้ต C , E , G นั่นเอง
      แล้วถามว่า เราจะรู้ไปทำไมว่าคอร์ดนั้นประกอบไปด้วยตัวโน้ตอะไรบ้าง ก็ในตารางคอร์ดมันก็บอกตำแหน่งให้เราจับคอร์ดแบบไหน ใช้นิ้วไหนจับก็จบแล้วไม่ใช่เหรอ จริงๆเอาแค่นั้นก็ได้นะ ถ้าอยากแค่ตีคอร์ดกีต้าร์ไปตลอดชีวิต แต่ถ้าอยากรู้เรื่องการโซโล่กีต้าร์ การแต่งเพลง หรือแกะเพลง มันก็ต้องรู้ไว้
     แต่ตัวอย่างที่ผมยกตัวอย่างไปนั้น มันแค่ คอร์ด C เท่านั้นนะ แล้วถ้าเป็นคอร์ดอื่นๆหล่ะ ก็ใช้หลักการเดียวกันครับ คือ 1,3,5 ครับ แต่มันจะมีเรื่องของ สเกล (Scale) ของคอร์ดมาเกี่ยวข้องด้วยครับ งั้นให้การบ้านก่อนเลยละกัน เดี๋ยวบทความหน้าเราจะมาเจาะลึกเรื่อง สเกล (Scale) ของคอร์ดต่างๆ เพิ่มอีกนะครับ และถ้ามีเวลาเราจะมาเจาะไปอีกหลายๆ สเกล (Scale) กันอีกนะครับ ถึงตอนนี้อาจจะปวดหัวขึ้นไปอีก ก็เข้าใจครับมันคือเรื่องใหม่สำหรับผู้เริ่มฝึกครับ แต่เชื่อเถอะครับ "ปวดหัววันนี้ เพื่อความพริ้วในวันหน้าครับ" 555
     ลองเอาอันนี้ไปท่องจำไว้ก่อนนะครับ หรืออาจจะหาตำแหน่งต่างๆบนคอกีต้าร์ไปพลางๆก่อนนะครับ
     คอร์ด C  มีตัวโน้ตทั้งหมดดังนี้  C, D, E, F, G, A, B
     คอร์ด D  มีตัวโน้ตทั้งหมดดังนี้  D, E, F#, G, A, B, C#
     คอร์ด E  มีตัวโน้ตทั้งหมดดังนี้  E, F#, G#, A, B, C#, D#
     คอร์ด F  มีตัวโน้ตทั้งหมดดังนี้  F, G, A, Bb, C, D, E
     คอร์ด G  มีตัวโน้ตทั้งหมดดังนี้  G, A, B, C, D, E, F#
     คอร์ด A  มีตัวโน้ตทั้งหมดดังนี้  A, B, #C, D, E, F#, G#
     คอร์ด B  มีตัวโน้ตทั้งหมดดังนี้  B, C#, D#, E, F#, G#, A#

     นี่คือตัวโน้ตทั้งหมดในแต่ละคอร์ดของ คอร์ดเมเจอร์ นะครับ  ผู้เริ่มหัดเล่นใหม่ๆอาจจะ งงๆ ว่า เอ๊ะ ทำไมตัวโน้ตบางคอร์ดมันมีเครื่องหมาย # หรือ b อยู่ด้วย เอาแบบบ้านๆเลยนะครับ ก็เขากำหนดมาแบบนี้ (อ้าว กวนนี่หว่า) ก็ตามทฤษฎีดนตรีนั่นแหล่ะครับ ให้ลองสังเกตุง่ายๆว่า ตัวโน้ตแต่ละตัวในแต่ละคอร์ดมันจะห่างกัน 1 เสียงเต็ม หรือ 2 ช่องในเฟร็ตกีต้าร์ ยกเว้นตัวที่ 3 กับ 4 จะห่างกันแค่ครึ่งเสียงหรือ 1 ช่องในเฟร็ตกีต้าร์ และตัวที่ 7 ไปตัวที่ 1 ในอีก อ็อกเต็ปหนึ่ง (สอนเรื่องอ็อกเต็ปไปแล้วนะครับ) อย่างคอร์ด C ที่มีโน้ตตัว B ต่อไปตัว C ที่อยู่คนละอ็อกเต็ปกับ C ตัวแรก เราจะเรียกว่าตัวที่ 8 ละกัน ก็คือ ตัวที่ 7 กับ 8 จะห่างกันครึ่งเสียงเสมอ สำหรับตัวโน้ตที่อยู่ในทางของ คอร์ดเมเจอ แบบนี้นะครับ


ภาพจาก www.guitarthai.com

     แล้วบทความหน้าเราจะมาดู ตัวโน้ต ในคอร์ดทางไมเนอร์กันบ้างนะครับ ว่ามันจะประกอบด้วยโน้ตอะไรบ้าง อะไรที่ทำให้เสียงมันไม่เหมือนกันระหว่าง เมเจอร์ กับ ไมเนอร์ อย่างเช่น คอร์ด C ทำไมเสียงมันไม่เหมือน คอร์ด Cm หรือ คอร์ด A ทำไมเสียงไม่เหมือน คอร์ด Am เอาไว้คราวหน้านะครับ เดี๋ยวจะมึนไปกันใหญ่ สำหรับคนใหม่ แล้วเจอกันเมื่อชาติต้องการครับ ( " เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา เราจะทำอย่างซื่อตรง ขอแค่เธอจงไว้ใจและศรัทธา แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอ ประชาชน" )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การอ่านโน้ตดนตรี ตัวเขบ็จ และเครื่องหมายหยุด

     จากบทความที่แล้วผมได้มาแบ่งปันเรื่องการอ่านบันทัด 5 เส้น การอ่านเสียง โด เร มี ฟา ซอล ลา ที บนบันทัด 5 เส้น และความยาวของ...